มารู้จัก ความแตกต่างของ Amplifier แต่ละคลาส
สวัสดีครับหัวข้อในวันนี้หลายๆคนคงจะรู้จักกับเจ้าตัวนี้แล้วนะครับกับ Amplifier หรือเรียกกันง่ายๆว่า Amp(แอมป์) ใช้ทำอะไรทุกท่านคงจะตอบเป็นเสียงเดียวกันนะครับว่า เป็นตัวที่เอาไว้ขยายเสียงหรือขยายสัญญาณทำให้เสียงดีเสียงดังขึ้น วันนี้เราจึงจะไม่ได้มาบอกแค่ว่าใช้ทำอะไรแต่เราจะมาเจาะลึก Amplifier เกี่ยวกับการใช้งาน คลาสต่างๆของ Amplifier ว่ามีคลาสของ Amplifier แต่ละประเภทมันต่างกันยังไงแต่ละตัวเหมาะกับการใช้งานหรือเหมาะกับงานประเภทไหนบ้าง โดยแรกเริ่มเดิมทีจะมีอยู่ 3 คลาสด้วยกัน คือ Class A, Class B และ Class AB แล้วยุคหลังก็ตามมาด้วย Class D, Class T, Class G และClass H ตามลำดับ และจะมีเพิ่มขึ้นมาอีกในอนาคตอีกด้วย
Class ของ Amplifier แต่ละแบบ
Class A
คลาสแรกเป็นคลาสที่เน้นไปในเรื่องของคุณภาพของเสียง ที่มีค่าความเพี้ยนที่ต่ำและเสียงรบกวนที่น้อย แต่ก็แลกมาด้วยกับเรื่องของความร้อนที่ค่อนข้างสูงเพราะมีการป้อนกระแสไฟให้ทรานซิสเตอร์อยู่ตลอดเวลา และมีกำลังขับที่ค่อนข้างจะน้อยอีกด้วย จึงเหมาะกับงานที่เน้นฟังพวกรายละเอียดของเสียงเพราะจะมีเสียงกลาง-แหลมที่ชัดเจน ไม่เน้นเสียงเบสดังๆหนักๆ
Class B
ด้วยการที่Class A มีปัญหาทางด้านความร้อนมาใน Class นี้จึงได้แก้ปัญหานี้โดยการใช้ทรานซิสเตอร์ 2 ตัวทำงานกันแบบ ผลัก ดัน ช่วยกันทำงานคนละครึ่งทางและไม่มีการป้อนกระแสไฟล่วงหน้า ทำให้เครื่องไม่ร้อนจนเกินไป แต่ในเรื่องของคุณภาพเสียงกลับต่ำและแย่กว่าแบบแรก มีความเพี้ยนสูง โดยในปัจจุบันคลาสนี้ก็ไม่เป็นที่นิยมและอาจจะไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว
Class AB
Amplifier Class นี้เป็นลูกผสม ระหว่าง Class A และ B ที่จับนำเอาข้อดีทั้ง 2 มาไว้ด้วยกับโดยใช้ทรานซิสเตอร์ 2 ตัว จัดการวงจรโดย ผลัก ดัน ช่วยทำงานคนละครึ่งแบบ Class B แต่ป้อนกระแสไฟปริมาณต่ำเอาไว้ล่วงหน้าตลอดเวลาแต่จะสูงไม่เท่า Class A ทำให้ Amplifier Class นี้มีคุณภาพเสียงที่ค่อนข้างดีแต่อาจจะไม่เท่า ClassA แต่กลับได้เปรียบในเรื่องของกำลังขับที่มากกว่า และความร้อนที่น้อยกว่ามาก Amplifier Class นี้จึงเหมาะกับทั้งนำไปขับทั้งลำโพงกลางแหลมและซับวูฟเฟอร์ก็ยังได้ ในปัจจุบันนิยมใน Amplifier คลาสนี้อย่างแพร่หลาย
Class D
โดดเด่นในเรื่องของการช่วยประสิทธิภาพในการขยาย เนื่องจากระบบการทำงานที่ไม่ทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะความถี่สูงถูกตัดออกไปในช่วงระหว่างภาคจ่ายไฟบวกและลบ อุปกรณ์จึงไม่ได้ทำงานอยู่ตลอดเวลา ความร้อนจึงต่ำ เรื่องของประสิทธิภาพก็สูงกว่าเจ้าตัว Class AB แต่ก็แลกมากับข้อจำกัดเรื่องการตอบสนองความถี่เสียงที่อาจจะไม่เหมาะกับการขับลำโพงกลาง-แหลม แต่เจ้าตัวนี้จะเหมาะกับพวกลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่เน้นเสียงเบส หนักๆ แน่นๆ
Class T
Class นี้จะถูกออกแบบให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นไปอีก โดยใช้ตัวประมวลผลสัญญาณดิจิตอลและปรับปรุงการแปลงสัญญาณจากอนาล็อกเป็นดิจิตอล วงจรจะสามารถทำงานได้เต็มช่องสัญญาณเสียง ทำให้มีประสิทธิภาพในการให้เสียงที่ดีกว่า เพี้ยนหน่อยกว่า Class AB ส่วนเจ้าตัวนี้ก็เหมาะกับการขับทั้งซับวูฟเฟอร์ และลำโพงกลาง-แหลมด้วย ซึ่งเจ้าตัวนี้จะให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า Class AB แต่เทียบเท่า Class D
Class G
Class นี้เป็น Class ที่มีต้นแบบและพัฒนาขึ้นมาจาก Class AB โดยหลักๆจะถูกพัฒนามาให้ลดการสูญเสียแรงดันของทรานซิสเตอร์ ซึ่งการทำงานของ Class G จะใช้แหล่งจ่ายไฟหลายๆแหล่งและเมื่อสัญญารที่เข้ามาแรงเท่าไหร่ระบบก็จะเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าให้สูงทันที แต่เมื่อสัญญาณที่เข้ามามีสัญญาณต่ำ ระบบก็จะเปลี่ยนแรงดันไฟฟ้าให้เท่าลงเช่นกัน ซึ่งการเปลี่ยนไปมาแบบนี้ก็จะทำให้เกิดความร้อนขึ้นในระบบ ประสิทธิภาพก็จะเท่ากับ Class D และ Class T แต่จะมีความสลับซับซ้อนกว่า
Class H
จะเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพขึ้นจาก Class G ขึ้นไปอีกซึ่งจะเปลี่ยนจากการที่ให้สัญญาณขึ้นลงตลอดเวลาทำให้เกิดความร้อนง่ายเป็นการเปลี่ยนแปลงแรงดันในระบบในกรณีที่สัญญาณที่รับเข้ามามีระดับสูงเกินเกณฑ์ เพื่อลดความร้อนลง ตัวนี้จึงเหมาะกับการ ขับซับวูฟเฟอร์ที่มีความถี่ต่ำ
เป็นอย่างไรกันบ้างละครับกับคลาสของ Amplifier ต่างๆที่เรานำมาให้ดูในวันนี้จริงๆแล้ว Class Amplifier เนี่ยก็ยังมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลานะครับในอนาคตก็อาจจะมี Amplifier Class ใหม่ๆมาให้เราได้ใช้กันอีกมากมายแน่นอนครับ หวังว่าข้อมูลที่เราให้ท่านไปในคราวนี้จะสามารถเป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการตัดสินใจจะซื้อ Amplifier สักตัวที่เหมาะสมกับงานของท่านได้สักตัวนะครับผมสำหรับคราวนี้กระผมขอลาไปก่อนสวัสดีครับ
ใส่ความเห็น